เปลี่ยนงานบ่อยไม่ใช่ไม่มีความอดทน แต่คือการหาประสบการณ์ใหม่ (Work experience is changing) 

Published on
Written by

Job Hoppers คืออะไร?

Job Hoppers คือคนเปลี่ยนงานบ่อย จริง ๆ เป็นเพราะเขาเหล่านั้นไม่มีความอดทนหรือเป็นการหาประสบการณ์ใหม่ (Work experience is changing) โดยปกติถ้าเปลี่ยนงานทุก ๆ 1-2 ปี ก็มักจะถูกมองว่าเป็น Job Hopper แม้ว่าจะมีเหตุผลหลากหลายที่น่าเชื่อถือได้ก็ตาม เช่น มีโอกาสใหม่ ๆ ที่ดีกว่า มีปัญหาสุขภาพ ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรได้ คนที่เปลี่ยนงานบ่อย ๆ มีแนวโน้มที่เบื่องานประจำ และไม่รู้สึกตื่นเต้นกับงานที่รับผิดชอบอีกต่อไปแล้ว 

ในปัจจุบันผู้ที่สรรหาบุคคล (Recruiters) เปิดใจยอมรับข้อดีของ Job Hoppers มากขึ้นและเชื่อว่าคนเหล่านี้มีทักษะมากมายหลากหลายแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ คนกลุ่มนี้มักจะเรียนรู้เร็ว มีแนวคิดใหม่ ๆ ทันต่อแนวโน้มของธุรกิจ คิดนอกกรอบ และสร้างเครือข่ายไว้ค่อนข้างกว้างขวางในทุกระดับ ดังนั้นมักจะมองหาโอกาสกับงานที่น่าสนใจและท้าทายมากขึ้น  

อย่างไรก็ตามยังมีผู้ว่าจ้างจำนวนหนึ่งที่มีแนวคิดลบต่อ Job Hoppers เชื่อว่าคนเหล่านั้นไม่มีความอดทนบ้าง ไม่มีความจงรักภักดีต่อองค์กร ปรับตัวไม่ได้บ้าง ไม่สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายบ้าง ได้เงินเดือนน้อยกว่าที่อื่นบ้าง หรือมาอยู่เพื่อเป็นทางผ่านเพื่อจะไปทำงานตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทำให้นายจ้างมองว่า Job Hoppers ก็ไม่น่าจะอยู่กับบริษัทนาน และอาจจะทำให้อัตราการลาออกของพนักงานสูงขึ้นและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสรรหาคนเพิ่มขึ้น และผลงานไม่เป็นไปตามเป้า และในระยะยาว Job Hopper ไม่เชื่อว่าคนกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะเรียนรู้งานนั้น ๆ ไม่ได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะนั้น ๆ อย่างจริงจัง 

Job Hoppers มีข้อดีมั้ย?

ถ้าพิจารณากันอย่างลึก ๆ แล้ว Job Hoppers ค่อนข้างจะมีข้อดีและให้ประโยชน์มากกว่าสิ่งที่นายจ้างกังวล เพราะคนเหล่านี้จะสร้างประสบการณ์และทักษะใหม่ ๆ ในทุก ๆ ครั้งที่มีการเปลี่ยนงาน สร้างประโยชน์ให้กับหน่วยงานและนายจ้างได้เป็นอย่างดี มักจะมีแนวคิด กำหนดแนวทางช่วยปรับ เปลี่ยนหรือสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมกับแนวโน้มสภาวะของโลกในปัจจุบันจนถึงอนาคต 

องค์กรที่ให้ความสำคัญในด้าน Soft Skills เพราะเชื่อว่าลักษณะอุปนิสัย ทักษะและความสามารถเชิงสมรรถนะ ทำให้การทำงานและการสื่อสารภายในองค์กรมีประสิทธิภาพ ทำให้องค์กรพัฒนาได้อย่างยั่งยืน Job Hoppers จึงถูกมองว่าเป็นคนที่มีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ตัวเอง (Emotional Intelligence) เพราะจากประสบการณ์ที่ได้พัฒนาจากการเปลี่ยนงานหลาย ๆ ครั้ง จึงเป็นการสร้างทักษะพัฒนาความสามารถเพิ่มขึ้น เช่นการผูกมิตรสร้างความสัมพันธ์ในการร่วมงานกับคนและทีมใหม่ ๆ ที่มีความแตกต่าง จึงทำให้คนเหล่านี้สามารถปรับตัวไปตามสถานการณ์ได้ดี สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร และสร้างความยั่งยืนขององค์กรอีกด้วย 

Job Hoppers มักจะเป็นคนที่ตั้งเป้าหมายในชีวิตและเดินตามเป้าหมายอย่างชัดเจน ซึ่งทำให้สามารถเล็งเห็นโอกาส และกล้าที่จะคว้าเป้าหมายนั้นไว้อย่างมั่นคงและรวดเร็ว ทั้งนี้จะเห็นว่าเป็นอย่างนั้นได้จริงจากการสัมภาษณ์ 

นอกจากนี้ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และบางครั้งส่งผลให้บางอาชีพไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป คนเหล่านั้นจึงจำเป็นต้อง Re-skill และปรับตัวให้เข้ากับลักษณะงานใหม่ ๆ ที่จำเป็นต้องปรับตัวในช่วงสั้น ๆ เพื่อที่จะสั่งสมประสบการณ์และสามารถทำงานในสายงานใหม่ ๆ ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต ซึ่งอาจจะใกล้เคียงกับสายงานเดิม หรืออาจจะแตกต่างไปเลยโดยสิ้นเชิงก็ได้ แต่วิกฤตการณ์แบบนั้นทำให้คนเหล่านั้นกลายเป็น Job Hoppers โดยจำเป็น 

นอกจากนั้นข้อดีของ Job Hoppers มักจะมีทักษะการทำงานที่หลากหลาย และสามารถทำงานได้ดีมากกว่า 1 งานในเวลาเดียวกัน สามารถที่จะผสมผสานความสามารถ ทักษะ และสมรรถนะ ในการทำงานแต่ละงานได้อย่างเหมาะสมลงตัว ช่วยเพิ่มโอกาสให้กับองค์กรมากขึ้นอีกด้วย 

อีกทั้งสถานการณ์เฉพาะและจำเป็นบางอย่างทำให้บางคนกลายเป็น Job Hoppers ทั้ง ๆ ที่มีความตั้งใจจะทำงานแต่ละที่เป็นเวลานาน ๆ แต่เป็นไปไม่ได้ เช่น สถานการณ์ COVID19 ทำให้หลายคนถูกออกจากงานและมีผลกระทบซ้ำ ๆ ทำให้หลายคนถูกบอกเลิกจ้างมากกว่า 1 ครั้งในระยะเวลาใกล้เคียงกัน

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำงาน

เทคโนโลยีเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำงาน ต้องมีการกำหนดเป้าหมายและการประเมินวัดผลงานอย่างจริงจัง ทำให้คนที่ใช้ประสบการณ์เดิม ๆ กลายเป็นเสียเปรียบในสถานการณ์ปัจจุบัน ตัวอย่างลองนึกถึงประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาล่าสุด เช่น คน 2 คนทำงานในตำแหน่งจัดซื้อจัดจ้างเหมือนกัน แต่คนหนึ่งทำงานในระบบเดิม ๆ ไม่มีเทคโนโลยีมาช่วยและก็ยังคงทำงานได้ดีมีผลงานสม่ำเสมอ แต่อีกหนึ่งคนทำงานโดยมีระบบ หรือแอพพลิเคชั่นใช้ในองค์กร ย่อมหมายถึงจำนวนการจัดซื้อจัดจ้างจำนวนมาก และราคาค่อนข้างมีความแตกต่าง และมีระบบช่วยให้การขับเคลื่อนของกระบวนการรวดเร็ว แม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งต้องผ่านการเรียน ฝึกฝน ทำอย่างสม่ำเสมอจนเป็นผู้ชำนาญ ถ้าคนสองคนนี้สมัครงานในบริษัทชั้นนำที่มีการใช้เทคโนโลยี คนไหนจะได้งาน ความชำนาญที่มีความหลากหลาย มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีจึงกลายเป็นที่ต้องการมากกว่า และเมื่อมีโอกาสในตำแหน่งที่สูงขึ้นบวกกับเงินค่าจ้างที่สูงขึ้น ย่อมทำให้คนเหล่านั้นไม่ลังเลที่จะเปลี่ยนงานและกลายเป็น Job Hoppers เพราะเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน 

ลักษณะนิสัยของแต่ละช่วงอายุ มีผลต่อการเป็น Job Hopper หรือไม่?

ดูเหมือนแนวโน้มของ Gen Z น่าจะเป็นกลุ่มที่เปลี่ยนงานเยอะที่สุด ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นคำกล่าวที่ไม่ยุติธรรมกับคนกลุ่มนี้สักเท่าไร แต่เป็นเรื่องจริงที่ตัวเลขของคนเปลี่ยนงานบ่อยอยู่ในช่วงอายุนี้ เพราะคนกลุ่มนี้เติบโตมากลับลักษณะงานที่มีเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่ง การแพร่กระจายของข่าวสารไปทั่วโลก (Globalization) และ นวัตกรรมใหม่ ๆ (Innovation) ทำให้พวกเขาได้มีโอกาสทำงานในบทบาท ลักษณะธุรกิจและอุตสาหกรรมที่หลากหลายและแตกต่าง ซึ่งทำให้ตระหนักรู้ถึงความมุ่งมั่นและอัตลักษณ์ของตัวเองอย่างชัดเจน ซึ่งใน Gen Z จึงเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงกระบวนการการทำงานจากเดิมต้องทำงานโดยกำหนดพื้นฐานก่อน กลายเป็นวางกลยุทธ์กำหนดขั้นตอนเพื่อให้ได้ซึ่งเป้าหมาย  

ในส่วนของค่าจ้างและเงินเดือน โดยปกติพนักงานในองค์กรจะได้รับเงินเดือนขึ้นปีละ 1 ครั้งซึ่งการพิจารณาฐานเงินเดือนมักจะใช้อัตราเงินเฟ้อเป็นตัวกำหนด และส่วนใหญ่พนักงานในองค์กรจะได้รับเงินที่ปรับขึ้นประมาณ 4% ซึ่งก็ถือว่าดีมากแล้วทีเดียว แต่ถ้าเปลี่ยนงานจากบริษัทหนึ่งไปอีกบริษัทหนึ่ง โดยปกติฐานเงินเดือนจะเป็นก้าวกระโดด อาจจะเริ่มตั้งแต่ 5.3% ถึง 20% ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความสามารถ

โอกาสบางอย่างที่ Job Hoppers ต้องสูญเสีย

ในขณะเดียวกัน Job Hoppers เองก็ตระหนักรู้ถึงโอกาสบางอย่างที่พวกเขาสูญเสียเช่นเดียวกัน เช่น ผลประโยชน์พิเศษนอกเหนือจากเงินเดือน เพราะระยะเวลาที่สั้นทำให้อายุงานในแต่ละที่สั้นเกินกว่าที่จะได้ผลประโยชน์พิเศษเหล่านั้น เช่น วันหยุดพักร้อน เงินกองทุนสมทบ เงินโบนัสพิเศษ (Incentive) และอื่น ๆ ขึ้นกับนโยบายของบริษัท 

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดที่ทำให้กลายเป็น Job Hoppers ควรต้องตั้งเป้าหมายในอาชีพและต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง การเปลี่ยนงานแต่ละครั้งต้องไม่ใช่แค่คำนึงถึง เงินเดือนที่สูงขึ้นมาก ตำแหน่งที่สูงขึ้นแสดงถึงความก้าวหน้า หรือแม้กระทั่งความท้าทายใหม่ ๆ ที่เรียกร้องตลอดเวลาที่กระตุ้นอยากให้เราอยากเปลี่ยนงานจนกลายเป็นนิสัยที่อยากเอาชนะที่ต้องเปลี่ยนงานสร้างความผิดหวังให้กับตัวเอง เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน เราจะกระโดดไปแต่ละงานจนในที่สุดไม่มีความสุขกับงานปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่เป็นงานที่เราชอบ ตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่างานที่เรากำลังจะไป ใช่เวลาที่เหมาะสม (Right Move) ที่เราจะขยับขยายเติบโต และมีความก้าวหน้าในอนาคตหรือไม่ ประเมินข้อดีข้อเสียทั้งหมด ความรู้ ทักษะความสามารถที่เรามี และนำไปใช้ในงานใหม่  

ดังนั้นเมื่อ Job Hoppers ที่กำลังหาโอกาสในการเปลี่ยนงานใหม่ จึงต้องประเมินเป้าหมาย และเมื่อตัดสินใจว่าเป็นเวลาที่ต้องเดินหน้า (Right Move) แล้ว ควรต้องเตรียมเหตุผลที่หนักแน่น มีความเป็นมืออาชีพเพื่อแสดงถึงศักยภาพในประสบการณ์ที่มีหลากหลายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ว่าจ้าง