หากเรามีความผิดปกติทางร่างกายหรือพิการ เราควรเปิดเผยในระหว่างหางานหรือไม่

Published on
Written by

ก่อนอื่นคงต้องตีความเรื่องความผิดปกติทางร่างกายหรือพิการกันก่อน ซึ่งต้องคำนึงถึงระดับความรุนแรงของสภาพหรือเงื่อนไข ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และความสามารถในการทำงานหรือการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน

ความผิดปกติทางร่างกายหรือความพิการอาจจะรวมถึง

  1. ความพิการทางการมองเห็น: ตาบอดทั้งหมดหรือบางส่วน ตาบอดสี สายตาเลือนราง การเห็นภาพแบบจำกัด
  2. ความพิการทางการได้ยิน: หูหนวก หรือมีความบกพร่องในการได้ยิน การใช้เครื่องช่วยฟัง
  3. ความพิการทางการเคลื่อนไหว: อัมพาต อัมพฤกษ์ หรือการสูญเสียอวัยวะ ปัญหาการทรงตัวและการเดิน
  4. ความพิการทางจิตใจหรือสติปัญญา: รวมถึงสภาพเช่น ออทิสติก หรือการพัฒนาสมองช้า ปัญหาการเรียนรู้
  5. ความพิการทางการสื่อสาร: การพูดหรือฟังที่มีข้อบกพร่อง ความบกพร่องในการรับรู้
  6. ความผิดปกติทางประสาทสัมผัส: ปัญหาการประสานงานของกล้ามเนื้อ ปัญหาระบบประสาท
  7. ความพิการทางจิตใจและอารมณ์: โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์

ความผิดปกติทางร่างกายหรือพิการส่งผลต่อทั้งร่างกาย ทั้งจิตใจ ซึ่งทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคนยากและซับซ้อนเป็นไปตามอาการของแต่ละคนด้วย ดังนั้นการให้การสนับสนุนและจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมก็จะช่วยให้ผู้ที่มีความพิการสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเต็มที่ และคนพิการหรือผู้ที่มีความผิดปกติทางร่างกายก็ยังคงดำเนินชีวิตและยังต้องทำงานถ้าสังคมให้โอกาสกับพวกเขา การดูแลผู้ที่มีความพิการและให้การสนับสนุนในการหางานจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งมีการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่เข้ามาช่วยจัดหางาน มีโครงการเฉพาะให้การสนับสนุนในการจัดทำฐานข้อมูลตำแหน่งงานที่เหมาะสม ฝึกอบรมฝีมือแรงงานสำหรับอาชีพในระยะสั้น อบรมทักษะดิจิทัลและคอมพิวเตอร์หรือหลักสูตรออนไลน์

รวมทั้งสนับสนุนเงินทุนประกอบอาชีพ ค่าอุปกรณ์นอกเหนือจากเงินสงเคราะห์รายเดือน สิทธิลดหย่อนภาษี และบริการทางการแพทย์และฟื้นฟู ส่วนภาคเอกชนเองก็มีบทบาทสำคัญในการให้การสนับสนุน ช่วยให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยจัดโควตาการจ้างงานคนพิการ ปรับเงื่อนไขการทำงานให้มีความยืดหยุ่น ที่สำคัญช่วยปรับสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงานให้เหมาะสมอีกด้วย  การอำนวยความสะดวกในการสร้างแพลตฟอร์ม เว็บไซต์จัดหางานเฉพาะคนพิการ สร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์เฉพาะรวมทั้งการแนะแนวอาชีพออนไลน์ ซึ่งในประเทศไทยมีหลายองค์กรและโครงการที่มุ่งเน้นในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนให้กับผู้ที่มีความพิการ เช่น สำนักงานความคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิ์ของผู้พิการ และโครงการสนับสนุนการทำงานของผู้พิการ (คลิกเพื่อเข้าชมเว็บไซต์) และมีกฎหมาย PDPA (Personal Data Protection Act) ที่มุ่งเน้นการปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวและป้องกันการเลือกปฏิบัติ ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน

รวมถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 คุ้มครองสิทธิคนพิการในการทำงาน เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติมีดังนี้

  1. การคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของคนพิการเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป ห้ามเก็บ ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ได้รับความยินยอม ให้ความคุ้มครองข้อมูลอ่อนไหว (Sensitive Personal Data) รวมถึงข้อมูลความพิการ
  2. สิทธิพิเศษสำหรับข้อมูลคนพิการ สามารถร้องขอให้แก้ไขหรือลบข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือมีสิทธิปฏิเสธการเก็บรวบรวมหรือใช้ข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และได้รับการคุ้มครองจากการใช้ข้อมูลเพื่อการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน
  3. การให้ความยินยอม ต้องได้รับความยินยอมโดยชัดแจ้งก่อนเก็บข้อมูลความพิการ สามารถถอนความยินยอมได้ทุกเมื่อ และ ข้อมูลต้องถูกเก็บรักษาอย่างปลอดภัยและเป็นความลับ
  4. การเข้าถึงข้อมูล มีสิทธิขอตรวจสอบและขอสำเนาข้อมูลส่วนตัว และหน่วยงานต้องจัดให้มีช่องทางการเข้าถึงที่เหมาะสมสำหรับคนพิการ
  5. การร้องเรียน สามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหากถูกละเมิดสิทธิ และมีกระบวนการพิจารณาข้อร้องเรียนที่คำนึงถึงความเป็นธรรม
  6. บทลงโทษ หากมีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของคนพิการ มีโทษทางแพ่งและอาญา ผู้ละเมิดอาจต้องชดใช้ค่าเสียหายหากก่อให้เกิดความเสียหาย

นอกจากนั้นกฎหมายแรงงานยังช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้พิการได้มีโอกาสทำงาน ซึ่งสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป ต้องรับคนพิการเข้าทำงาน 1 คนต่อลูกจ้าง 100 คน และมีสิทธิได้รับการสงเคราะห์และฟื้นฟูอาชีพ และนายจ้างห้ามเลือกปฏิบัติโดยมิชอบด้วยกฎหมายจากเหตุทุพพลภาพ

การประกาศตำแหน่งว่างและพิจารณาผู้สมัคร: ในกรณีที่ผู้รับสมัครประกาศตำแหน่งว่าง ผู้สมัครที่อาจจะมีความผิดปกติหรือพิการที่ไม่กระทบต่อการทำงานไม่จำเป็นต้องเปิดเผยในขั้นตอนแรก ขึ้นอยู่กับลักษณะงานและความสามารถในการปฏิบัติงาน ควรเน้นความสามารถและคุณสมบัติที่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน

ส่วนใหญ่บริษัทจะลงใบประกาศตำแหน่งงานมีข้อความอ้างอิง “ตำแหน่งงานนี้สำหรับผู้พิการ” จะเห็นได้ว่าการยอมรับผู้พิการหรือผู้ที่มีความผิดปกติมาร่วมงานเปิดกว้างเพิ่มมากขึ้น และการที่จะสมัครงานจึงขึ้นอยู่กับผู้สมัครว่าต้องการสมัครหรือไม่ และในใบสมัครงานหรือเรซูเม่ควรแจ้งเงื่อนไขและข้อกำจัดเพื่อให้นายจ้างได้มีโอกาสพิจารณา และจัดหางานที่เหมาะสมให้ การหางานสำหรับผู้พิการอาจต้องใช้เอกสารหลายชนิด เพื่อให้สามารถแสดงความสามารถและความเหมาะสมของตนเองได้ ดังนั้นผู้พิการต้องเตรียมเอกสารสำคัญในการยื่นสมัครงานเช่น

  1. เอกสารยืนยันความพิการ หมายถึง บัตรประจำตัวคนพิการซึ่งออกโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมุดประจำตัวคนพิการ และหนังสือรับรองความพิการจากโรงพยาบาลของรัฐ
  2. เอกสารส่วนบุคคล ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน รูปถ่ายปัจจุบัน หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
  3. ประวัติการศึกษา สำเนาวุฒิการศึกษา ใบรับรองผลการเรียน ประกาศนียบัตรวิชาชีพ ใบรับรองการฝึกอบรมพิเศษ
  4. เอกสารเกี่ยวกับการรักษา อาทิเช่น ใบรับรองแพทย์ ประวัติการรักษา เอกสารแสดงความสามารถในการปฏิบัติงาน
  5. ประวัติการทำงาน เช่น หนังสือรับรองประสบการณ์การทำงาน หนังสือแนะนำตัว เอกสารผลงานหรือโครงการที่เคยทำ
  6. เอกสารอ้างอิงจากหน่วยงานหรือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนผู้พิการ เอกสารการฟื้นฟูอาชีพ ใบรับรองการฝึกอบรมอาชีพ หลักฐานการอบรมทักษะเฉพาะทาง ประกาศนียบัตรการอบรมต่างๆ

การเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน จัดเตรียมให้เรียบร้อย และเตรียมตัวการสัมภาษณ์ จะเป็นการเพิ่มความพร้อมและโอกาสในการสมัครงาน

และในส่วนขององค์กรสิ่งที่พึงระลึกเสมอว่า สิ่งที่สำคัญคือผู้พิการมีสิทธิ์ที่เท่าเทียมกับผู้อื่น หากต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม สามารถติดต่อกับองค์การสิทธิ์ของผู้พิการเพื่อให้มีการแก้ไขให้เหมาะสม หรือเมื่อมีการกีดกันจนถึงเรื่องอื่นๆที่อาจจะมีอัตราความรุนแรง ผู้พิการสามารถฟ้องร้องต่อศาลแรงงานหรือศาลอาญาได้ แล้วแต่กรณี

โดยสรุปการเปิดเผยเรื่องความผิดปกติทางร่างกายหรือพิการในระหว่างหางานอาจถูกเปิดเผยต่อผู้รับสมัครหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้สมัครจะแจ้งตั้งแต่ขั้นตอนการเปิดรับสมัครหรือไม่ขึ้นอยู่กับความชัดเจนของอาการหรือภาพลักษณ์ และการแสดงเอกสารสำคัญที่ใช้ในการสมัครงาน ไม่ว่าจะอย่างไรผู้สมัครจำเป็นต้องรักษาปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้สมัครอย่างเท่าเทียม และในขั้นตอนการสัมภาษณ์งาน ผู้รับสมัครควรจะให้ความสำคัญต่อคุณสมบัติและประสบการณ์มากกว่าลักษณะทางกายภาพของผู้พิการ ในขณะเดียวกันผู้ถูกสัมภาษณ์ก็ต้องแสดงความเชื่อมั่นและแสดงให้เห็นว่าความพิการไม่ได้เป็นอุปสรรคใหญ่ในการทำงาน และสามารถที่จะทำงานให้ได้ตรงตามเป้าหมายที่กำหนด สร้างความน่าเชื่อถือ และช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุดและอาจจะต้องแจ้งผู้สัมภาษณ์ถึงเงื่อนไขเฉพาะที่ทางบริษัทต้องพิจารณาจัดหาเพื่ออำนวยความสะดวกเช่น ทางขึ้นห้องน้ำเป็น ramp เพื่อสะดวกต่อการใช้รถเข็น หรืออื่นๆ

ก่อนที่จะสมัครงาน ผู้พิการเองก็ต้องสำรวจหาบริษัทที่มีความพร้อมในการรับผู้พิการ เพื่อไม่เสียเวลาทั้งสองฝ่าย และพึงตระหนักว่าเราไม่ได้เป็นเพียงคนเดียวที่เผชิญเหตุการณ์เหล่านี้ มีคนอีกมากมายที่อยากได้โอกาสเหล่านี้ในขณะที่องค์กรเองก็เพิ่มโอกาสมากยิ่งขึ้น