การทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน เป็นกุญแจต่อสู้วิกฤติ Burnout ได้หรือไม่?

Published on
Written by

 

การทำงานสัปดาห์ละ 4 วันโดยไม่มีการลดค่าจ้าง เป็นแนวคิดที่หลายองค์กรเริ่มปรับตัวเพื่อให้เข้ากับยุคการทำงานสมัยใหม่ การปรับสู่แนวคิดการทำงานรูปแบบนี้เป็นกุญเเจสำคัญต่อองค์กรอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพจิตของพนักงานที่ประสบภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ burnout ที่มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 แต่ละระลอกที่ผ่านมา

ช่วงปี 2015 – 2019 ประเทศไอซ์แลนด์ได้ร่วมโปรเจคนำร่อง ทำการทดลองกับพนักงาน 2,500 คน โดยลดชั่วโมงการทำงานลงถึง 35-36 ชั่วโมง และไม่มีการลดค่าจ้างใด ๆ ผลที่ได้คือ พนักงานทำงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้าน productivity หรือการบริการลูกค้า อีกทั้งยังมีพัฒนาการที่ดีจากผลการวัดระดับความเครียด ภาวะหมดไฟ สุขภาพใจ รวมถึงความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (work-life balance) นับเป็นโปรเจคนำร่องที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก หลาย ๆ องค์กรเริ่มได้รับการโน้มน้าวชักจูงให้ลองใช้แนวคิดการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์กับพนักงานของตัวเองมากกว่า ซึ่งมากถึง 86% ของชาวไอซ์แลนด์ได้ใช้เวลาลดลงในการทำงานของแต่ละสัปดาห์

กลับกัน ประเทศเบลเยียมใช้วิธีการที่แตกต่างออกไป ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 รัฐบาลเบลเยียมได้ประกาศนโยบาย โดยให้พนักงานทำงานเพียง 4 วัน ในแต่ละวัน สามารถทำงานได้ถึง 10 ชั่วโมง เมื่อถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ก็จะสามารถพักผ่อนอย่างเต็มที่ตลอด 3 วัน พนักงานสามารถเพิ่มชั่วโมงการทำงานได้ในสัปดาห์ที่ต้องการ และลดชั่วโมงทำงานในสัปดาห์ต่อไปแทน

ยังมีอีกหนึ่งโปรเจคนำร่องที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กร 4 Day Week Global ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้คำปรึกษาและสนับสนุนแนวคิดการทำงานใหม่นี้โดยเฉพาะ มีบริษัท 50 แห่งและพนักงานกว่า 2,000 คนเข้าร่วมโปรเจคนี้ ซึ่งพนักงานได้ทำงานสัปดาห์ละ 4 วันโดยไม่มีการปรับลดค่าจ้าง ถึงโปรเจคนี้อยู่ในช่วงการรวบรวมข้อมูล แต่ผลโดยรวมในตอนนี้ก็ไม่ต่างจากโปรเจคนำร่องของประเทศไอซ์แลนด์ เพราะประสิทธิภาพการทำงานและสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก แหล่งประกาศหางานอย่าง Himalayas ซึ่งมุ่งเน้นด้านเทคโนโลยีแบบ remote working ได้สร้างแอปพลิเคชั่นเพื่ออัปเดทบริษัทที่มีนโยบายลดจำนวนวันการทำงานต่อสัปดาห์ จากข้อมูลล่าสุด มีบริษัทถึง 98 แห่งที่ใช้แนวคิดการทำงานรูปแบบนี้ โดยมีบริษัท 71 แห่งปรับใช้อย่างถาวร และอีก 24 แห่งอยู่ในช่วงการทดลอง

ถกเถียงกันมาหลายปีสำหรับแนวคิดการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ถึงเวลาหรือยังที่แนวคิดนี้จะถูกใช้งานอย่างจริงจัง?

ช่วงการระบาดของ Covid-19 ทำให้การทำงานในแต่ละสัปดาห์ยาวนานขึ้น ก่อนเกิดการระบาดที่ผ่านมา คนทำงานหลายคนใฝ่ฝันที่จะได้ทำงานที่บ้านมากขึ้น ไม่ต้องเดินทางเข้าออฟฟิศอย่างที่แล้วมา แต่ด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจหลายด้าน ทำให้สิ่งต่าง ๆ มีความชะงัก แทนที่ผู้คนจะใช้เวลาทำงานต่อสัปดาห์ลดลง แต่สถานการณ์ต่าง ๆ กลับบีบให้ทำงานมากขึ้น จนในปี 2019 องค์การอนามัยโลกจัดให้ “ภาวะหมดไฟจากการทำงาน หรือ Burnout” เป็นปัญหาสุขภาพจิตอย่างหนึ่ง มากไปกว่านั้นยังมีการเรียกร้องให้นายจ้างปรับเปลี่ยนแนวการทำงานเพื่อสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน ในปี 2016 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของ WHO ได้ประเมินว่าชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินไปสำหรับพนักงาน ส่งผลต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ของผู้คนกว่า 2.8 ล้านคน

ในปี 2021 Adecco Group ได้ทำการสำรวจพนักงานกว่า 15,000 คน พบว่า 4% มีแนวโน้มทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อให้ได้งานออกมาตามที่หัวหน้างานคาดหวัง ไม่แปลกใจว่า 2 ใน 3 ของผู้ทำแบบสอบถามนี้จะตกอยู่ในภาวะ burnout ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนควรตระหนักถึงแนวคิดใหม่นี้เพื่อลดภาวะหมดไฟในการทำงานทั้งต่อตัวเองและพนักงานในองค์กร

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า องค์กรเหมาะสมสำหรับแนวคิดนี้หรือไม่?

ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของแต่ละองค์กร ก็จะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับประเภทอุตสาหกรรมและวิธีในการจัดการ เปรียบเทียบระหว่างองค์กรที่มีพนักงานส่วนใหญ่ได้รับเงินเดือนกับองค์กรที่จ้างพนักงานส่วนใหญ่แบบรายชั่วโมง จะเห็นได้ว่าองค์กรกลุ่มแรกจะมีความท้าทายมากกว่ากลุ่มที่สอง เพราะจะส่งผลกระทบต่อความยากง่ายในการประเมินความสามารถในการทำกำไรของแต่ละองค์กร (Profitability)

ด้วยผลผลิตของงานและการส่งเสริมสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนแล้วแต่ส่งผลดีต่อทั้งพนักงานและองค์กร หลายองค์กรมีการเปิดรับแนวคิดการทำงานที่ลดลงต่อสัปดาห์ มากไปกว่านั้น ผลสำรวจจากองค์กรหลายแห่งในประเทศอังกฤษเผยว่า การปรับเข้ากับแนวคิดการทำงานรูปแบบนี้ ทำให้พวกเขาสามารถดึงดูดคนเก่งเข้ามาทำงานในองค์กรได้เป็นอย่างดี

ในประเทศอังกฤษ มีองค์กรหลากหลายประเภทที่ปรับใช้แนวคิดนี้โดยให้พนักงานทำงาน 32-35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเกี่ยวกับพัฒนาระบบซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี การบริการด้านการเงิน หน่วยงานของรัฐ รวมถึงอุตสาหกรรมด้านการบริการ

โรงแรมระดับ 5 ดาวในกรุงลอนดอนอย่างโรงแรม Landmark นับเป็นโรงแรมระดับท็อปแห่งแรกที่ปรับลดวันทำงาน ไอเดียนี้มาจากที่หัวหน้าเชฟ Gary Klaner รู้สึกว่าการลดวันทำงานและเพิ่มจำนวนพนักงานในห้องครัวและบาร์ของโรงแรมสามารถลดภาวะ Burnout ของพนักงาน แถมยังเพิ่มประสิทธิภาพของงานและการบริการลูกค้าได้อีกด้วย แม้ว่าแผนการนี้ทำให้ทางโรงแรมจำเป็นต้องจ้างพนักงานเพิ่มเพื่อให้ครอบคลุมวันและเวลาการให้บริการของโรงแรม รวมถึงการเพิ่มค่าจ้างของเชฟ แต่ Klaner มองว่า มันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการลงทุนอย่างจริงจังของโรงแรม Landmark ในด้านทรัพยากรบุคคลและแสดงถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมให้พนักงานมีความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน

การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เป็นแนวคิดที่ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างมาก การทำงานที่เปลี่ยนไปนั้น ไม่เพียงแค่บรรเทาวิกฤติ Burnout แต่ยังช่วยให้องค์กรดึงดูดคนเก่งและคนมีความสามารถที่ต้องการสถานที่ทำงานที่ยืดหยุ่นได้เข้ามาร่วมงาน แนวคิดการทำงานนี้ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงในโลกของการทำงานที่ดีอย่างหนึ่ง เพราะแน่นอนว่าองค์กรเองจะได้ประโยชน์จากการปรับใช้แนวคิดนี้ และยังเป็นโอกาสที่จะช่วยพนักงานในองค์กรมีคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในชีวิตและการทำงาน

References

  1. Department Of Mental Health
  2. The Economic Times