สิ่งที่ผู้สมัครงานมักละเลยในการเตรียมตัว Interview

Published on
Written by

ความสำคัญของการทำความรู้จักเกี่ยวกับบริษัทที่สมัครงาน

อาจจะเป็นเพียงไม่กี่เปอร์เซนต์ที่ผู้สัมภาษณ์สอบถามผู้สมัครงานเกี่ยวกับบริษัท เช่นคุณรู้จักบริษัทเราอย่างไร หรือคุณทราบหรือไม่ว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ตัวไหนขายดีที่สุด หรือสร้างยอดขายสูงสุด หรือทำไมคุณถึงอยากร่วมงานกับเรา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นคำถามธรรมดา แต่ถ้าผู้สมัครงานไม่มีการเตรียมตัวก็จะกลายเป็นเรื่องยาก ตอบได้อย่างไม่มั่นใจซึ่งอาจจะมีผลต่อการประเมินการเตรียมตัวการสัมภาษณ์น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ในส่วนของผู้สัมภาษณ์มองเห็นได้ว่าผู้สมัครเตรียมตัวในส่วนนี้หรือไม่ อย่างไรซึ่งช่วยให้ผู้สัมภาษณ์นำมาประเมินว่าผู้สมัครเหมาะสมกับตำแหน่งงานหรือไม่ ประทับใจการเตรียมตัวของผู้สมัครขนาดไหน ผู้สมัครมีความพร้อมในการทำงานอย่างไรในเมื่อไม่แม้แต่จะเตรียมตัวหาความรู้เกี่ยวกับบริษัทที่สมัครงาน

ในขณะเดียวกันผู้สมัครควรจะได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัทในหลายแง่โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มทางธุรกิจ และสร้างความมั่นใจให้กับตัวผู้สมัครอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันข้อมูลเหล่านี้หาได้ง่ายดายมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นจากเว็บไซต์ของบริษัท โซเชียลมีเดียของบริษัท บทความข่าว เว็บไซต์จัดหางาน และอีกมากมายหลากวิธี ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้ผู้สมัครตัดสินใจได้อีกด้วยว่าผู้สมัครเหมาะกับบริษัทดังกล่าวหรือไม่ และช่วยให้การสัมภาษณ์ลื่นไหลและการตอบคำถามก็จะตรงประเด็นอิงกับข้อมูลที่ได้มา

ผู้สมัครควรต้องเรียนรู้ข้อมูลพื้นฐานของบริษัท ว่าเป็นธุรกิจประเภทไหน มีผลิตภัณฑ์และบริการอะไรบ้าง กลุ่มลูกค้าปัจจุบันเป็นใคร และคณะผู้บริหารมีวิสัยทัศน์และพันธกิจอย่างไร วัฒนธรรมองค์กรเป็นแบบไหน ข่าวล่าสุดของบริษัทเกี่ยวกับอะไร เป็นเชิงบวกหรือเชิงลบ ผู้บริหารพูดถึงเรื่องเหล่านั้นอย่างไร คู่แข่งของบริษัทมีใครบ้าง สินค้า กลยุทธ์ รวมทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง ของบริษัทเหล่านั้นเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับบริษัทที่เราสมัครงาน ที่สำคัญที่เราควรจะต้องรู้คือ แนวโน้มของอุตสาหกรรมนั้น ๆ การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อบริษัทและธุรกิจนั้น ๆ ในอนาคตอันใกล้อย่างไร เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ผู้สมัครเองก็ถือโอกาสประเมินบริษัทไปด้วยเช่นกัน

ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางและเปิดโอกาสให้ผู้สมัครสามารถถามได้อย่างเหมาะสมว่า ขอทราบคุณสมบัติและลักษณะงานของตำแหน่งที่สมัครทางเมล์ได้หรือไม่ ผู้สัมภาษณ์ดำรงตำแหน่งอะไร สัมภาษณ์เป็นภาษาไทยหรือภาษาอื่น และสัมภาษณ์ออนไลน์ หรือตัวต่อตัว ซึ่งจะทำให้ผู้สมัครได้เตรียมตัวได้อย่างเหมาะสม

ความสำคัญของลักษณะงานและคุณสมบัติในตำแหน่งที่สมัคร

ส่วนนี้เป็นหัวใจในการสัมภาษณ์งาน เพราะเกี่ยวข้องกับลักษณะงานและคุณสมบัติของผู้ที่จะมาทำงานในตำแหน่งนี้ แต่ผู้สมัครบางคนส่วนใหญ่ให้ความสนใจเฉพาะคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นหลัก พออ่านจบมีคุณสมบัติครบ สมัครทันทีโดยที่อ่านลักษณะงานจำเป็นอย่างผ่าน ๆ

แต่ในความเป็นจริงผู้สมัครควรต้องวิเคราะห์ลักษณะงานที่สมัคร เพื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติและทักษะของตัวเองกับคุณสมบัติที่ตำแหน่งงานต้องการ เข้าใจหน้าที่ความรับผิดชอบ พิจารณาความชอบ ความสนใจ และเป้าหมายในอาชีพตรงกับเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ การเตรียมตัวสัมภาษณ์งานนั้น ๆ จึงต้องเข้าใจคำถามที่อาจถูกถาม และเตรียมคำตอบที่ตรงประเด็น ในระยะเวลาที่เหมาะสม

สิ่งที่ควรต้องวิเคราะห์ลักษณะงานนั้น ๆ คือผู้สมัครจำเป็นต้องมองให้เห็นหน้าที่ความรับผิดชอบหลักว่ามีอะไรบ้าง ในแต่ละเรื่องต้องใช้ทักษะจำเป็นอะไรบ้าง มีเครื่องมืออะไรบ้างที่ช่วยให้เราสามารถปฏิบัติแต่ละหน้าที่หลักได้อย่างเหมาะสม และสำเร็จลุล่วงได้เป็นอย่างดี ผู้สมัครมีประสบการณ์ตรงและทำหน้าที่เหล่านั้นได้อย่างไร ใช้ทักษะทางเทคนิคอะไร อย่างไร รวมทั้งใช้รูปแบบพฤติกรรม ความคิด ความรู้สึก ที่แสดงออกเป็นเอกลักษณ์ของบุคคลในการทำงานร่วมกับผู้อื่น แก้ปัญหา หรือนำทีมอย่างไร เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะใช้เป็นหลักในการสัมภาษณ์

นอกจากการเตรียมตัวในสิ่งผู้สมัครมีความถนัดแล้ว ผู้สมัครเองยังคงต้องเตรียมตัวสำหรับคุณสมบัติบางประการที่ผู้สมัครยังไม่มีประสบการณ์โดยตรงเช่น งานก่อนหน้านี้ของผู้สมัครไม่มีลูกน้องที่ต้องดูแลโดยตรง แต่สำหรับตำแหน่งใหม่ที่สมัครต้องดูแลลูกน้อง ผู้สมัครควรต้องเตรียมตัวตอบคำถามอย่างไรที่จะทำให้ผู้สัมภาษณ์เชื่อว่าผู้สมัครสามารถทำได้และน่าจะเป็นผลลัพธ์ที่เหมาะสมสำหรับทุก ๆ ส่วนที่เกี่ยวข้อง

ตัวอย่างคำถามในการเตรียมตัว Interview

เพื่อให้การเตรียมตัวสัมภาษณ์งานในตำแหน่งต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างดี ผู้สมัครควรต้องสุ่มเตรียมคำถามและแยกเป็นหัวข้อดังต่อไปนี้

  1. คำถามเกี่ยวกับตัวคุณ
  • เล่าให้ฟังเกี่ยวกับตัวคุณเอง
  • อะไรคือจุดแข็งและจุดอ่อนของคุณ
  • อะไรคือเป้าหมายระยะยาวของคุณ
  • คุณชอบอะไรเกี่ยวกับงานนี้
  • อะไรคือสิ่งที่คุณคาดหวังจากงานนี้
  • ทำไมคุณถึงลาออกจากงานเก่า
  • คุณมีคำถามอะไรเกี่ยวกับบริษัทของเรา
  1. เกี่ยวกับทักษะและประสบการณ์
  • เล่าให้ฟังเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งนี้
  • อธิบายทักษะที่คุณมีและเกี่ยวข้องกับงานนี้
  • คุณเคยทำงานผิดพลาดอะไรบ้าง และเรียนรู้อะไรจากมัน
  • คุณเคยทำงานเป็นทีมอย่างไร
  • คุณเคยประสบปัญหาอะไรบ้าง และคุณแก้ปัญหาอย่างไร
  • คุณเคยทำงานภายใต้ภาวะกดดันอย่างไร และแก้ไขอย่างไร
  1. เกี่ยวกับบริษัทและตำแหน่ง
  • คุณรู้จักอะไรเกี่ยวกับบริษัทของเรา
  • ทำไมคุณถึงอยากทำงานที่นี่
  • คุณคิดว่าคุณจะสามารถสร้างผลงานอะไรให้กับบริษัท
  • คุณคิดว่าตำแหน่งนี้เหมาะกับคุณอย่างไร
  • คุณมีไอเดียอะไรที่จะพัฒนาบริษัท
  • คุณคิดว่าคุณจะสามารถทำงานร่วมกับทีมของเราได้อย่างไร
  1. คำถามเพิ่มเติมสำหรับสายงานต่าง ๆ
  • สายงาน IT
    • คุณมีความเชี่ยวชาญด้านโปรแกรมอะไรบ้าง
    • คุณเคยเขียนโปรแกรมอะไรบ้าง
    • คุณเคยแก้ปัญหาอะไรเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์
    • คุณติดตามเทรนด์ใหม่ ๆ ในสายงาน IT อย่างไร
  • สายงานการตลาด
    • คุณเคยทำแคมเปญการตลาดอะไรบ้าง
    • คุณเคยใช้เครื่องมือทางการตลาดอะไรบ้าง
    • คุณเคยวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาดอย่างไร
    • คุณติดตามเทรนด์ใหม่ ๆ ในสายงานการตลาดอย่างไร
  • สายงานขาย
    • คุณเคยขายสินค้าอะไรบ้าง
    • คุณเคยใช้เทคนิคการขายอะไรบ้าง
    • คุณเคยจัดการกับลูกค้าที่ไม่พอใจอย่างไร
    • คุณตั้งเป้าหมายการขายอย่างไร

การเตรียมคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้ล่วงหน้านอกจากจะช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้สมัครแล้ว จะช่วยลดความกังวลตื่นเต้นในการสัมภาษณ์อีกด้วย นอกเหนือจากนั้นการฝึกฝนการตอบคำถามสัมภาษณ์ ควรต้องเป็นตัวเอง จริงใจและมีความมั่นใจ ก็จะทำให้การสัมภาษณ์เป็นเหมือนบทสนทนาพูดคุยทำให้บรรยากาศการสัมภาษณ์ราบรื่น

อีกหนึ่งประเด็นที่คนส่วนใหญ่มักจะลืมเตรียมคือ ผู้สมัครควรจะตั้งคำถามไว้ถามผู้สัมภาษณ์อย่างไร ในตอนจบการสัมภาษณ์ และคำถามอย่างไรจึงจะเหมาะกับสถานการณ์

การตั้งคำถามที่ดีจะแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าคุณเป็นผู้สมัครที่มีความสนใจจริงจัง มุ่งมั่น และใฝ่เรียนรู้ ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้สมัครงานในการแสดงความสนใจ ในตำแหน่งและบริษัท สร้างความประทับใจ ให้กับผู้สัมภาษณ์ คำถามที่ดีควรเกี่ยวข้องกับตำแหน่งและบริษัท เจาะจงมากกว่าคำถามทั่วไป แต่เปิดกว้าง เพื่อการอภิปราย และแสดงถึงความคิดริเริ่มของผู้สมัคร และผู้สมัครควรเตรียมคำถามไว้ล่วงหน้า 2-3 ข้อ โดยอาจจะถามคำถามเพิ่มเติมจากคำตอบของผู้สัมภาษณ์ หรือจะเป็นเพียงการพูดขอบคุณผู้สัมภาษณ์ก็เพียงพอเหมือนกัน

ตัวอย่างคำถามหลังจบ Interview

  • เกี่ยวกับงาน:
    • คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดที่คุณมองหาสำหรับตำแหน่งนี้คืออะไร
    • เป้าหมายหลักของตำแหน่งนี้คืออะไร
    • โอกาสในการเติบโตในตำแหน่งนี้เป็นอย่างไร
  • เกี่ยวกับบริษัท:
    • คุณช่วยเล่าให้ฟังเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทหน่อยได้ไหม
    • อะไรคือสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญมากที่สุด
    • บริษัทมีนโยบายสนับสนุนพนักงานอย่างไรบ้าง
    • อะไรคือสิ่งที่คุณชอบที่สุดเกี่ยวกับการทำงานที่นี่
  • เกี่ยวกับผู้สัมภาษณ์:
    • อะไรคือสิ่งที่คุณชอบที่สุดเกี่ยวกับการทำงานในตำแหน่งนี้
    • คุณมีคำแนะนำอะไรสำหรับผู้สมัครในตำแหน่งนี้บ้าง

ตัวอย่างประโยคในการถามคำถาม:

  • “ฉันอยากทราบเพิ่มเติมเกี่ยวกับ…”
  • “คุณช่วยอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ…”
  • “อะไรคือสิ่งที่คุณคาดหวังจาก…”
  • “จากประสบการณ์ของคุณ…”
  • “คุณมีคำแนะนำอะไรสำหรับ…”

การเตรียมตัวที่ดี จำช่วยให้เกิดข้อผิดพลาดน้อย ไม่ใช่แค่เพียงสร้างความมั่นใจให้กับตัวผู้สมัคร แต่ยังช่วยสร้างความประทับใจให้กับผู้สัมภาษณ์และเพิ่มโอกาสที่จะได้งานสูงขึ้นอีกด้วย